ในวันที่ลูกถูกทำร้าย พ่อแม่จะทราบได้อย่างไร

จากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ แน่นอนค่ะว่าเป็นเรื่องที่สะเทือนใจผู้ปกครองหลายๆท่าน กับเรื่องราวของเด็กๆที่ถูกคุณครูทารุณกรรม เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเฝ้าระวังเด็กๆและเยาวชนของเรานะคะ ให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี สุขภาพกายที่ดี แต่ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องปล่อยลูกไปจากอ้อมอกพ่อแม่ ไปสู่สังคมที่เขาจะต้องพัฒนาและเติบโตต่อไป แล้วผู้ปกครองจะทราบได้อย่างไรว่าลูกของเราถูกทำร้ายหรือไม่ และมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร

1. สังเกตร่างกายของลูก

ในเวลาที่ลูกกลับจากโรงเรียน ให้หมั่นสังเกตตามร่างกายของลูกให้ดี ว่ามีรอยเขียวช้ำ หรือรอยแผลเล็กๆ รอยโดนหยิก รอยโดนตี แต่ถ้าเราขอดูโดยตรงเด็กอาจจะกลัวและไม่ให้ดู แนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตในเวลาที่ อาบน้ำ หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าค่ะ

2. อาการผวา ละเมอ ร้องไห้บ่อย

เด็กที่โดนทำร้ายมา แน่นอนค่ะว่าความกลัวจะยังคงฝังใจอยู่ จนทำให้เด็กมีอาการผวากลัวคน นอนละเมอหรือฝันร้าย ร้องไห้บ่อย และกรี๊ดร้อง หรืออาจจะมีปัสสาวะรดที่นอน ซึ่งอาจจะเป็นอาการที่เด็กไม่เคยเป็นมาก่อนแล้วพึ่งจะมาเป็นหลังจากที่โดนทำร้าย

3. มีความเครียดและกังวลสูง

เด็กกลับบบ้านมาถ้าเด็กมีอาการที่ผิดไปจากเดิม อย่างเช่น ปกติเคยร่าเริง แต่เปลี่ยนไปเป็นเงียบ ไม่พูด และบ่นไม่อยากไปโรงเรียน หรือมีอาการปวดท้อง อาเจียน แสดงอาการกลัวมากเมื่อถึงโรงเรียน

4. มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตและรู้สึกได้ หรือถ้าผู้ปกครองไม่มั่นใจ แนะนำให้พาลูกไปพบคุณหมอเฉพาะทางที่มีความเกี่ยวข้องและเชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก, จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเด็ก, นักกิจกรรมบำบัด

วิธีการดูแลรักษาสุขภาพจิตใจของลูกน้อย
  • ยังไม่ควรสอบถามหรือเค้นเอาความจริงจากลูก ในขณะที่ลูกยังไม่พร้อม ควรจะปลอบประโลมเด็กก่อน เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายใจ อุ่นใจ และรู้สึกปลอดภัย แนะนำให้ใช้ภาษากายในการช่วยเด็ก เช่น การกอด การลูบหัวหรือลูบหลังเบาๆ
  • เมื่อลูกพร้อมที่จะเล่าให้ฟัง แนะนำให้ฟังที่เด็กเล่าก่อน เป็นผู้ฟังที่ดี เพราะถ้าเกิดเราคุยกับลูกในขณะที่ตัวเองยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ อาจจะทำให้ลูกสับสนได้ว่า ที่พ่อกับแม่กำลังโกรธนั้น คือ โกรธเด็กอยู่หรือปล่า
  • ถ้าลูกไม่พร้อมจะเล่า เพราะเกิดจากการโดนข่มขู่ ว่าไม่ให้บอกใคร ไม่ให้บอกพ่อกับแม่ ควรจะพาไปพบผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อจะได้ช่วยเด็กได้ทันที หากไม่ทราบว่าควรจะไปที่ไหน สามารถปรึกษาออนไลน์กับนักจิตวิทยาได้ที่ https://bit.ly/33bhph2
  • ใช้ชีวิตประจำอย่างปกติ ให้ความรักและดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักและความอบอุ่นกับเด็กอย่างเต็มที่ การเล่นของเล่น การเล่านิทาน การทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ปกครอง เป็นสิ่งที่มคุณค่าต่อจิตใจเด็กมากๆค่ะ ช่วยสมานแผลใจให้เด็กๆได้เป็นอย่างดี รู้รักและเข้าใจ ด้วยความอบอุ่น จะทำให้เด็กผ่านช่วงเวลาเลวร้ายไปได้ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก หมอออนไลน์ Mor Online และ ขอขอบคุณข้อมูลความรู้จาก ครูฝน นักกิจกรรมบำบัดเด็ก

Facebook Comments Box